A Visit to Dhamma School Foundation, Myanmar, 2019
เครือข่ายธัมมวิชัย และคณะทำงานโครงการพระไตรปิฎกศึกษาเพื่อมนุษยชาติ ไปศึกษาดูงานด้านการศึกษาพระไตรปิฎกที่ประเทศเมียนมาร์เพื่อนำกลับมาทำให้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย ในโอกาสนี้ได้เยี่ยมชมการทำงานของเครือข่าย Dhamma School ของเมียนมาร์ด้วย ในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2562
ซึ่งได้ข้อสรุปในภาพรวมว่า การศึกษาพระไตรปิฎกของพม่าในฝ่ายอนุรักษ์นิยม ที่สามารถสร้างบุคคลากรพระไตรปิฎกธร ที่ทรงจำและเข้าใจพระไตรปิฎกได้ทั้งหมดนั้น เป็นการศึกษาในส่วนของแก่นที่จะต้องรักษาไว้ แต่จะต้องตอบคำถามของยุคปัจจุบันให้ได้ว่าเราจะให้มนุษย์ทรงจำพระไตรปิฎกทั้งหมดไปทำไม ในเมื่อมีระบบคอมพิวเตอร์ทำได้อยู่แล้ว
ได้มีโอกาสเยี่ยม มหาวิทยาลัยเถรวาทนานาชาติ (lTBMU) และมหาวิทยาลัยสงฆ์ของในประเทศ เยี่ยมคารวะสถานที่ประชุมสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 6 เยี่ยมดูวัดที่ท่านเรียนพระไตรปิฎกกันจริงจังเพื่อสร้าง "พระไตรปิฎกธร" ที่สามารถทรงจำพระไตรปิฎกได้ทั้งหมด สถานทูตไทยในกรุงย่างกุ้งได้นิมนต์ถวายภัตตาหารเพล และคณะจึงได้ใช้สถานที่เพื่อการประชุมกันด้วย โดยร่วมประชุมกับคณะกรรมการและคณะทำงานของ Dhamma School Foundation และเยี่ยมดูวัดที่ท่านใช้เป็นสถานที่เรียนสำหรับนักเรียน 200 คน ที่ชานเมืองย่างกุ้ง
ส่วนเครือข่ายธรรมศึกษายุคใหม่ของ Dhamma School Foundation นั้นน่าสนใจอย่างยิ่ง ที่ท่านสามารถขายคู่มือนักเรียนไปได้ 2 ล้านเล่มภายในเวลาห้าปี ถ้าเรานำมาประยุกต์ด้วยเครื่องมือออนไลน์ช่วย เราน่าจะทำได้เร็วกว่าที่เมียนมาร์
คณะทำงานได้ประชุมหารือกันหลังจากดูงาน มีความเห็นว่า สภาพสังคมและเยาวชนของประเทศไทยเรา ถูกท่วมท้นด้วยกระแสวัตถุนิยม และบริโภคนิยมที่ไหลบ่าเข้าประเทศมานาน ต่างจากประเทศเมียนมาร์ที่เพิ่งจะเปิดประเทศมาไม่กี่ปีนี้ ดังนั้นการจะออกแบบหลักสูตรสอนธรรมะให้กับเยาวชนยุคใหม่ จะต้องมีกระบวนการที่แยบคายกว่าที่เมียนมาร์มาก ซึ่งนับว่าเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง และเราจะต้องประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตและออนไลน์ เพื่อให้เป็นการสืบสานอย่างรู้คุณค่า รักษาอย่างเป็นระบบ และต่อยอดให้งอกงามกระจายไปได้ในวงกว้าง และทันต่อสภาพการณ์ ในปัจจุบัน
- - -
ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง (Related): https://www.roong-aroonfoundation.or.th/buddhism_in_myanmar/